10 วิธีพูดให้เก่ง (เคล็ดลับที่ต้องฝึก)
ทั่วไป 14 พ.ค 67
10 วิธีพูดให้เก่ง (เคล็ดลับที่ต้องฝึก)
ในชีวิตประจำวันของเราส่วนใหญ่ต้องใช้การพูดกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะพูดคุยทั่วไป พูดต่อหน้าคนอื่น พูดคุยเรื่องงาน
หรือเจรจาในธุรกิจ การพูดถือเป็นการทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ที่สำคัญมาก
คนพูดเก่งย่อมสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังได้ ยิ่งหากมีทักษะในการพูดที่ดีด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะได้รับเสียงชื่นชมและสร้างความเชื่อมั่นได้ง่าย
การพูดให้เก่งนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่จะนำทางไปสู่ความสำเร็จ และใคร ๆ ก็พูดเก่งได้ หากฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ แต่จะทำอย่างไรนั้น มาดูวิธีพูดให้เก่งกันเลยดีกว่า
10 วิธีพูดให้เก่ง (เคล็ดลับที่ต้องฝึก)
1. รู้ความแตกต่างระหว่าง “พูดเก่ง” กับ “พูดเป็น”
“คนพูดเป็น” คือคนที่พูดได้ทุกเรื่อง ตอบโต้กับบทสนทนา หรือได้อย่างต่อเนื่องเป็นธรรมชาติ พูดได้ไม่มีหยุด แต่หากถึงเวลาต้องพูดอย่างเป็นทางการ พูดต่อหน้าคนมาก ๆ หรือพูดเพื่อเจรจาการค้า
การเป็นคนพูดเป็น ‘อาจจะไม่เพียงพอ’ “พูดเป็น” ไม่ได้หมายถึง “พูดเก่ง” เพราะคนพูดเก่ง จะสามารถควบคุมสถานการณ์ในการพูดได้ดี เรียบเรียงทุกอย่างก่อนพูด
รู้กาลเทศะ รู้จังหวะเวลาในการพูด เลือกใช้คำพูดได้เหมาะสม และเข้าถึงความรู้สึกของผู้ฟัง อีกทั้งยังเป็นผู้ฟังที่ดีได้ในขณะเดียวกันด้วย
2. เตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
ถึงแม้การพูดดีจะขึ้นกับทักษะ ไหวพริบปฏิภาณของผู้พูด แต่การเตรียมตัว เตรียมข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ที่จะพูด ก็ยังเป็นความสำคัญที่ขาดไปไม่ได้
ก่อนพูดต้องเตรียมข้อมูลที่จะพูดให้มากที่สุด กำหนด Timeline ในการลำดับเรื่อง กำหนดถ้อยคำที่จะสื่อสารกับเป้าหมายว่า ผู้ฟังเป็นอย่างไร
รวมถึงภาษาที่จะใช้ในบทสนทนา ให้สอดคล้องกับคู่สนทนา หรือกลุ่มผู้ฟัง หากเรามีข้อมูลมากเท่าไหร่ เราก็กุมความได้เปรียบในการพูดได้มากขึ้นเท่านั้น
ที่เหลือก็คือทักษะในการพูดของเรานั่นเอง
3. อย่าพูดจากการท่องจำ
การท่องจำข้อมูลต่าง ๆ เป็นขั้นตอนในการเตรียมตัวพูดเท่านั้น จำเอาไว้เลยว่า ให้พูดจากความเข้าใจเท่านั้น ต่อให้เป็นการพูดต่อหน้าคนฟัง หรือพูดเพื่อเจรจาการค้า ก็ไม่แตกต่างกันมาก
เลือกจำเฉพาะเนื้อหาที่สำคัญ ไม่ใช่เนื้อหาทั้งหมด ยิ่งเราท่องจำเรื่องที่จะพูดมาเท่าไหร่ เสน่ห์ความเป็นธรรมชาติในการพูดก็จะยิ่งหายไป ความคิด ความเป็นตัวตน ก็จะหายไปด้วย
เพราะส่วนใหญ่ผู้ฟังชอบฟังความเห็นมากกว่าความรู้ แบบที่หาอ่านเอาเองก็ได้ ดังนั้น อย่าท่องจำไปพูดต่อ จำเพียงแค่คอนเซ็ปต์หลักของเนื้อหาก็พอ
4. ฝึกการพูดสั้น ๆ แบบ Small Talk
นอกจากไม่ควรพูดจากการท่องจำ แบบที่ยกมาทั้งหมดแล้ว ในชีวิตประจำวันการพูดสั้น ๆ ก็ช่วยฝึกให้เราจับใจความในการพูดได้กระชับเช่นกัน
การที่ต้องพบเจอคนหลากหลายในแต่ละวันนั้น เป็นแบบฝึกหัดในการฝึกพูดที่ดี การพูดแบบ Small Talk ไม่ใช่การพูดแบบจริงจัง แต่เป็นเหมือนการทักทาย
ให้เปิดหัวข้อสนทนาแบบเป็นธรรมชาติ และไม่จำเป็นต้องพูดกับคนที่คุ้นเคย เช่น การถามทาง พูดถึงสภาพอากาศ ทักทายสัพเพเหระผู้คนในตลาด
แต่ก็ต้องระวังการคุยกับคนอื่น ต้องไม่แสดงท่าทีเป็นกันเองมากเกินไป
5. ต้องเป็นนักฟังที่ดีด้วย
การเป็นนักเขียนที่ดี ต้องเริ่มจากเป็นนักอ่าน เพราะฉะนั้นการเป็นนักพูดที่ดี ก็ต้องหัดเป็นนักฟังที่ดีด้วยเช่นกัน
การได้ฟังอะไรมาก ๆ นอกจากจะได้ความรู้แล้ว เรายังได้เรียนรู้บุคลิกภาพ ท่าทาง ลีลาการพูด ของคนพูด นำมาเปรียบเทียบ หรือนำส่วนที่ดีมาปรับใช้กับการพูดของเรา
ยิ่งหากเราได้ฟังคนที่พูดเก่ง ๆ ที่มีชื่อเสียงบ่อย ๆ ก็ยิ่งทำให้เราได้ต้นแบบในการพูด แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องฟังจากการเจอหน้าก็ได้
สามารถฝึกพูดได้จากการดูวิดีโอ แนว Ted Talk หรือ Stand Up ต่าง ๆ
6. แบ่งสัดส่วนเนื้อหาที่จะพูดให้ชัด
จะเป็นคนพูดเก่งนั้นต้องแบ่งองค์ประกอบเนื้อหาสาระที่จะพูด ออกเป็นส่วน ๆ ให้ชัดเจนด้วย เพราะจะช่วยให้การนำเสนอของเรา มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น
เริ่มบทสนทนาด้วยการเกริ่นนำเพื่อดึงให้คนฟังหันมาสนใจตัวเราก่อน โดยที่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนนำเข้าประเด็นเกินไป เมื่อคนเริ่มสนใจแล้ว ก็ค่อย ๆ นำเสนอส่วนสาระสำคัญที่เตรียมไว้จริง ๆ
และในระหว่างบทสนทนา ก็ไม่ควรปล่อยให้บรรยากาศดูเครียดมากจนเกินไป อาจแทรกเรื่องราวสนุก ๆ มุกขำ ๆ เข้าไปบ้าง ตามจังหวะโอกาสที่เหมาะสม และที่ต้องไม่ลืม คือการสรุปปิดประเด็นให้กระชับ
7. ใช้ Story Telling เพื่อเชื่อมโยง
การพูดที่ดี หรือการสื่อสาร ก็ต้องเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีด้วย การเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ เข้ากับการดำเนินชีวิตจริง ๆ ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการเป็นนักพูด
เพราะเราจะพูดจากความรู้สึกอารมณ์ร่วม ท่าทางที่แสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ
เช่น การพูดเรื่องเศร้า สีหน้าท่าทางของเราก็จะต้องดูหม่น ๆ ลงไปด้วย หรือหากพูดเรื่องเกี่ยวกับความรัก ก็ต้องพูดแบบใช้โทนเสียงนุ่ม ๆ
หน้าตาดูอิ่มเอม หรือหากเข้าเรื่องตื่นเต้น ก็ควรมีจังหวะในการเล่า เพื่อให้รอคอยและคล้อยตามได้ง่าย
8. ฝึกพูดแบบไล่น้ำหนักเสียง
การพูดที่ดี ในน้ำเสียงต้องคล้ายกับเมโลดี้ เสียงดนตรี นอกจากการพูดด้วยเสียงระดับปกติในชีวิตประจำวัน
เราควรฝึกกำหนดระดับของเสียงสูง-เสียงต่ำ ในการพูดให้เคยชิน เพราะการกำหนดระดับเสียงพูด เรียกกันว่า Voice Pitch เป็นหัวใจหลักของการสื่อสารที่ดีเช่นกัน
มีงานวิจัยสรุปออกมาว่า เสียงที่ทุ้มนุ่มลึก จะสร้างความเชื่อมั่นได้ดีกว่า แต่เสียงสูงก็ดึงดูดความน่าสนใจได้ดีเช่นกัน และคนฟังส่วนใหญ่ มักจะคล้อยตามคนที่พูดด้วยเสียงต่ำมากที่สุด
9. ปล่อยให้มีจังหวะเงียบบ้าง
การพูดที่ดี ไม่ใช่พูดได้ตลอดเวลา การปล่อยให้มีช่วงเวลาแห่งความเงียบบ้าง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพูดเช่นกัน
เพราะความเงียบอย่างถูกจังหวะเวลา บางครั้งก็เสียงดังและได้ยินชัดกว่าคำพูดใด ๆ
แต่ก็ต้องระวังอย่าปล่อยให้เงียบจน Dead Air เราจะเห็นจากนักพูดเก่ง ๆ ส่วนใหญ่จะมีจังหวะหยุด ปล่อยเวลาให้ผู้ฟังคิด
แล้วจึงปล่อยประโยคโดน ๆ โควท หรือคำคมเด็ด ๆ ออกมา เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งทักษะของการพูด ที่สร้างความแปลกใจ เพื่อที่จะดึงดูดให้คนฟังรอคอยที่จะฟังอีกครั้งนั่นเอง
10. ฝึกฝนและให้กำลังใจตัวเอง
ข้อสุดท้ายอยากจะบอกว่า พรสวรรค์อาจจะไม่ได้ทำให้เราพูดเก่งเท่าพรแสวง การเป็นคนพูดเก่งขึ้นอยู่กับการฝึกฝน อย่างเป็นประจำเท่านั้นเอง
วิธีที่ง่ายสุดคือการพูดกับตัวเองที่หน้ากระจก ระหว่างพูดก็พยายามจัดสีหน้าและท่าทางให้เหมาะสม เสมือนหนึ่งว่าพูดอยู่ต่อหน้าคนเป็นร้อยเป็นพัน
พยายามสร้างทัศนคติที่ดีในการพูด และปลุกเร้าความตื่นตัวอยู่เสมอ มองหาจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขในทุก ๆ ครั้ง พร้อม ๆ กันกับให้กำลังและเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เราจะเป็นคนพูดที่ดีที่เก่งให้ได้
คนพูดเก่งนั้นมีหลักที่เรียกกันว่า TPO จะมีอยู่ 3 ข้อด้วยกันคือ T – Time ถูกเวลา P – Place ถูกสถานที่ และ O – Occasion ถูกสถานการณ์
หากอยากเป็นคนพูดเก่ง ก็อย่าได้กลัวการพูดเริ่มง่าย ๆ จากการทักทายเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนที่ทำงาน หามุมมองในการสนทนาใหม่ ๆ ในแต่ละวัน ฝึกพูดให้เคยชินในทุก ๆ สถานการณ์
พยายามหาโอกาสเหมาะสมในการพูด หรือแสดงความคิดเห็นให้เป็นประจำ แล้ววันหนึ่งข้างหน้าก็จะเป็นนักพูดที่เก่งอย่างแน่นอน