ว่ายน้ำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ออกกำลังกาย 23 ก.พ 67
ว่ายน้ำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ว่ายน้ำ เป็นกิจกรรมทางน้ำที่เล่นกันได้ทุกเพศทุกวัย และยังมีประโยชน์ในหลากหลายด้าน ทั้งให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน
และสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย หากเรียนรู้วิธีการว่ายน้ำที่ถูกต้องก็จะยิ่งช่วยให้ร่างกายได้ประโยชน์จากกิจกรรมนี้มากขึ้น
การว่ายน้ำช่วยเผาผลาญแคลอรีได้เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับการออกกำลังกายชนิดอื่น ๆ อีกทั้งยังส่งผลดีแก่ข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย
เพราะน้ำจะช่วยพยุงร่างกายทำให้ไม่เกิดแรงกระแทกที่บริเวณข้อต่อขณะว่ายน้ำ
นอกจากนี้ การว่ายน้ำยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และสุขภาพหัวใจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ท่าว่ายน้ำที่มักใช้กันเป็นประจำอยู่ทั้งหมด 4 ท่า ได้แก่
- ท่าฟรีสไตล์ (Crawl หรือ Freestyle)
- ท่ากรรเชียง (Backstroke)
- ท่ากบ (Breaststroke)
- ท่าผีเสื้อ (Butterfly)
ประโยชน์ของการว่ายน้ำ
ประโยชน์จากการว่ายน้ำ ช่วยให้ร่างกายทุกส่วนได้เคลื่อนไหวต้านไปกับน้ำ ทำให้ร่างกายออกแรงมากขึ้นโดยไม่รู้สึกเหนื่อยง่าย
อีกทั้งยังส่งผลดีกับสุขภาพ เช่น ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจโดยที่ร่างกายได้รับแรงกระแทกต่ำ,มีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก
เสริมสร้างการทำงานของหัวใจ และปอดให้แข็งแรง,เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกือบทุกมัดได้ถูกใช้งาน
ผ่อนคลายความเครียด และคลายร้อน,เพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกาย,ปรับบุคลิกภาพ
และช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ดียิ่งขึ้น
การหายใจขณะว่ายน้ำเป็นสำคัญที่สุด ดังนั้น ผู้ที่ฝึกว่ายน้ำควรหายใจให้ถูกต้อง
แต่ละท่าจะมีวิธีหายใจแตกต่างกันไปดังนี้
- ท่าฟรีสไตล์ (Crawl หรือ Freestyle) หายใจขณะที่หันศีรษะขึ้น โดยไม่ต้องยกศีรษะขึ้นเหนือน้ำ
- ท่ากรรเชียง (Backstroke) การหายใจของท่าดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับผู้ว่ายน้ำเอง เนื่องขณะว่ายน้ำศีรษะจะหงายขึ้น ทำให้จมูกนั้นอยู่เหนือน้ำ
- ท่ากบ (Breaststroke) หายใจตามจังหวะแขน
- ท่าผีเสื้อ (Butterfly) หายใจเมื่อสิ้นสุดจังหวะแขนในแต่ละครั้ง
ว่ายน้ำเผาผลาญแคลอรี่ได้เท่าไร ?
ระยะเวลาในการว่าย โดยปกติแล้วการว่ายน้ำ 1 ชั่วโมงจะเผาผลาญแคลอรี่ได้ประมาณ 400 กิโลแคลอรี่
หากเป็นการว่ายน้ำแบบนักกีฬาจะเผาผลาญได้ถึง 700 กิโลแคลอรี่ต่อชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม การว่ายน้ำจะต้องคำนึงถึงสมรรถภาพร่างกาย
เพราะหากหักโหมมากเกินไปเพื่อหวังการเผาผลาญแคลอรี่ก็อาจจะส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมาได้
ข้อควรระวังในการว่ายน้ำ
แม้จะเป็นการออกกำลังกายที่ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ แต่การว่ายน้ำก็มีข้อควรระวัง ซึ่งผู้ว่ายน้ำควรทราบ เพื่อป้องกันปัญหาอื่น ๆ ตามมาภายหลัง ได้แก่
ท้องเสีย สระว่ายน้ำส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยได้ทำความสะอาดทุกวัน ดังนั้น จึงกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคอันตรายเช่น เชื้อคริพโตสปอริเดียม (Cryptosporidium)
เชื้อไกอาเดีย (Giardia) เชื้อชิเกลลา (Shigella) เชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) หรือแม้แต่เชื้ออีโคไล (E.Coli)
ที่ส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรัง หากร้ายแรงก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa) เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่ว่ายน้ำเป็นประจำ เนื่องจากน้ำในสระว่ายน้ำเข้าไปขังในหู
และน้ำเหล่านั้นที่มีเชื้อแบคเรียจะเข้าไปทำให้ติดเชื้อ จนเกิดอาการคัน ปวดหู และมีอาการบวมภายในช่องหู บางรายอาจมีหนองไหลออกมาจากหูได้
ในกรณีผู้ที่เคยมีหูชั้นกลางอักเสบอาจส่งผลให้เกิดหูชั้นนอกอักเสบได้ ควรใส่ที่อุดหูเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เชื้อโรคที่เจือปนในสระว่ายน้ำอาจทำให้ผู้ว่ายน้ำติดเชื้อในทางเดินหายใจได้แบบไม่รู้ตัว โดยที่อาจพบได้คือ โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires Disease)
ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการไอ หายใจสั้น เจ็บหน้าอก มีไข้ หนาวสั่น และปวดกล้ามเนื้อ โดยโรคนี้จะเป็นอันตรายมากหากเกิดขึ้นในผู้ป่วยอายุ ผู้ที่ปัญหาเกี่ยวกับปอด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน