“อากาศร้อน” ทำให้ “ปวดหัว” หรือเกิดจากโรค!!
สุขภาพ 13 พ.ค 64

อากาศร้อนๆ หลายคนเลือกที่จะดับร้อนด้วยวิธีหาสิ่งของเย็นๆ มาบำบัดอย่าง เปิดแอร์ กินไอศกรีม ดื่มน้ำเย็นๆ หรือไปอาบน้ำ บางคนถึงขั้นอยู่ไม่นิ่ง เหงื่อไหลท่วมตัวเลยก็มี!
แล้วเคยมั้ย!! อากาศร้อนทำให้ปวดหัว ซึ่งอาการเหล่านี้มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Heat Headache หรืออาการปวดศีรษะจากความร้อนนั่นเอง แล้วทำไมอากาศร้อนถึงทำให้ปวดหัวได้ เรามีคำตอบมาฝาก
Heat Headache หรืออาการปวดศีรษะจากความร้อน
สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายๆ ปัจจัย ทั้งอุณหภูมิจากภายนอกตัวอาคาร หรือจากสภาพแวดล้อมที่ต้องทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือเป็นผลข้างเคียงของอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อน ทั้งนี้ สภาพอากาศร้อนเป็นตัวกระตุ้นทำให้ปวดศีรษะได้ เพราะเมื่ออากาศร้อนขึ้น ความชื้นและความดันบรรยากาศจะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กระบวนการสร้างสารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นได้
อากาศร้อนไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกปวดหัวเท่านั้น ยังมีผลต่อการเพิ่มปริมาณของสาร “เซโรโทนิน” ในสมอง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียด เมื่อความเครียดเพิ่มขึ้น เลยเป็นที่มาของอาการปวดศีรษะ หรือใครที่ทำงานท่ามกลางแสงแดด มักเกิดอาการอ่อนเพลียจากความร้อน และโรคลมแดด (Heat Stroke) เป็นอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม ไม่เพียงแต่เวียนหัว ปวดศรีษะ อาจเกิดอาการผิดปกติอย่าง พูดไม่ชัด สับสน รุนแรงถึงขั้นชักเกร็งได้
อย่าละเลยภาวะขาดน้ำ!
เมื่อร่างกายรับความร้อนจากอากาศภายนอกมา ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนเหงื่อไหล เพื่อให้ร่างกายเย็นลง อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้อย่างสมดุล ต้องดื่มน้ำเข้าไปเพื่อปรับร่างกายให้กลับมาสมดุล
ดังนั้น ใครที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอในสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำขึ้นได้ ส่งผลให้หลอดเลือดในสมองเกิดการหดตัว และทำให้เกิดอาการปวดศีรษะตามมา จึงควรหมั่นจิบน้ำตลอดทั้งวัน หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน
อาการปวดหัว ไม่ได้เกิดจากอากาศร้อนเสมอไป บางคนปวดหัวข้างซ้าย ปวดหัวข้างขวา ปวดหัวทั่วศรีษะ ซึ่งการปวดหัวแต่ละจุดสามารถบ่งบอกโรคที่คุณกำลังเป็นได้ และเรามาดูกันดีกว่าว่า อาการปวดหัวเป็นสาเหตุของโรคอะไรกันบ้าง
ปวดบริเวณขมับด้านใดด้านหนึ่ง
อาการปวดบริเวณขมับด้านใดด้านหนึ่ง หรือปวดสลับกันระหว่างข้างซ้ายหรือข้างขวา และเวลาปวดบางครั้งอาจจะมีปวดร้าวเข้ามาที่กระบอกตาร่วมด้วย อาจเป็นอาการปวดจากโรคไมเกรน บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ร่วมด้วย และถ้าอยู่ในที่แสงสว่างจ้า เสียงดัง หรือว่ามีกลิ่นฉุนอาการจะแย่ลงได้
ปวดบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้าง
อาการปวดบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้างลงมาจนถึงบริเวณหน้าผากด้วย หรือว่าปวดตรงบริเวณดั้งจมูก ซึ่งเป็นตำแหน่งของไซนัส ดังนั้น หากเกิดมีการอักเสบของไซนัส ก็จะมีอาการปวดที่ตรงบริเวณนี้ด้วย
ปวดบริเวณหน้าผากและขมับทั้งสองข้าง
อาการปวดหัวที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณรอบศีรษะ ตำแหน่งที่พบบ่อยคือบริเวณหน้าผากและขมับทั้งสองข้าง บางครั้งร้าวมาที่ด้านหลังของศีรษะและต้นคอ รวมถึงบ่าไหล่ร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาวะที่สัมพันธ์กับความเครียด
ปวดรุนแรงแบบทนไม่ได้
อาการปวดแบบรุนแรงมาก และมีการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น เห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด รวมถึงมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย อาจเป็นอาการปวดที่มาจากโรคร้ายแรงได้ อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเนื้องอกสมอง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจเป็นอันขาด ให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด
ปวดบริเวณหน้าใบหู
อาการปวดบริเวณหน้าใบหู โดยเฉพาะระหว่างการเคี้ยวอาหาร อาจจะเป็นอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของกราม ซึ่งบางคนอาจไม่รู้ตัวว่ากัดฟันตอนเวลานอน ทำให้รู้สึกว่าเมื่อตื่นขึ้นมา เวลาขยับปากหรือเวลาเคี้ยวอาหารจะรู้สึกปวดบริเวณดังกล่าว
อาการปวดหัว สามารถเกิดขึ้นได้หลายปัจจัยมาก จึงควรดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นพิเศษ หากใครที่พอทราบถึงสาเหตุของอาการปวดหัวแล้ว ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดหัวซ้ำๆ จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยเริ่มจากผ่อนคลายความคิด ลดความเครียด มองโลกในแง่บวก และเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ พร้อมออกกำลังกายสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรง แล้วคุณจะห่างไกลโรคต่างๆ และลดอาการปวดหัวได้
ตรวจเช็ค อาการโควิด-19 และวิธีป้องกันโควิด
กระตุ้นการเผาผลาญไขมันด้วย 6 เทคนิค
สุขภาพดีโดยไม่ต้องออกกำลังกาย