สาเหตุของการเป็นโรคซึมเศร้า?
สุขภาพ 26 เม.ย 67

สาเหตุของการเป็นโรคซึมเศร้า?
สาเหตุโรคซึมเศร้า
เกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรมและปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง หรือความผันผวนของระดับฮอร์โมน
ส่วนปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าปัจจัยทางอารมณ์ เป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางอารมณ์
เช่น หากเป็นภาวะซึมเศร้าในวัยเด็กอาจมีสาเหตุจากความตึงเครียดในครอบครัว เหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง
ภาวะซึมเศร้าในโรคประสาทซึ่งอาจพบร่องรอยว่าถูกบีบคั้นอย่างมากในวัยเด็ก แล้วปะทุออกมาในช่วงชีวิตภายหลัง
ภาวะซึมเศร้าเพราะความชราเกิดเพราะความสามารถในการปรับตัวลดน้อยลง มีชีวิตโดดเดี่ยว ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย
หรือปัญหาที่เรียกกันว่าภาวะสะเทือนใจหลังเกษียณ (สูญเสียคุณค่าในตน ไม่มีงาน มีความรู้สึกว่าไร้สมรรถภาพ)
สังเกตอาการ
เมื่อคนในครอบครัวหรือใกล้ชิดเข้าข่ายซึมเศร้า หลักการสังเกตง่ายๆ ควรสังเกตพฤติกรรมดังต่อไปนี้
1. พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิด คือมักมีความคิดไปในทาง Negative Thinking หรือความคิดที่เป็นด้านลบตลอดเวลา มักรู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิด รู้สึกตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมาย และคิดว่าไม่มีทางเยียวยาได้
2. พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้หรือการทำงาน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความสนุก งานอดิเรก หรือกิจกรรมที่เพิ่มความสนุก
3. พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ คือ มักมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวลอยู่ตลอดเวลา มักหงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย เป็นต้น
4. พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเด่นชัด เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือบางรายหลับมากเกินไป บางคนเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักลด
บางคนรับประทานอาหารมากทำให้น้ำหนักเพิ่ม มีอาการทางกายรักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย
รักษา
การรักษาโรคซึมเศร้า มีทั้งรักษาด้วยการใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งในบางคนอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค โดยมีวิธีการรักษาดังนี้
1. การรักษาด้วยจิตบำบัด เป็นวิธีการรักษาซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของทฤษฎีทางจิตวิทยา เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีในการลดอาการซึมเศร้าวิธีหนึ่ง
การทำจิตบำบัดมีหลายรูปแบบ ได้แก่ จิตบำบัดแบบประคับประคอง จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นการปรับความคิดความเข้าใจ จิตบำบัดแบบพฤติกรรมบำบัด
ทั้งนี้ ผู้บำบัดจะพิจารณารูปแบบของการบำบัดตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย
2. การรักษาด้วย dTMS สมองของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีการปล่อยและรับสารเคมีที่ผิดไปจากปกติ การรักษาด้วย dTMS (deep Transcranial Magnetic Stimulation)
เป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นสมองในตำแหน่งที่ต้องการ คล้ายการออกฤทธิ์ของยา เหนี่ยวนำให้การปล่อยประจุไฟฟ้าเข้าไปปรับสมดุลทุกส่วนที่เชื่อมโยงกับสมองส่วนที่กระตุ้น
ช่วยให้สารเคมีในสมองกลับมาทำงานเป็นปกติ
3. การรักษาด้วยการใช้ยา ดังนี้
ยากลุ่ม Tricyclics ,ยากลุ่ม Tetracyclics group , ยากลุ่ม Triazolopyridines group , ยากลุ่ม NDRI ,ยากลุ่ม SSRI group และ ยากลุ่ม SNRI Group
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า
1. อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงาน การปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หรือรับผิดชอบมากเกินไป
2. แยกแยะปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นส่วนย่อยๆ พร้อมทั้งจัดเรียงความสำคัญก่อนหลังและลงมือทำเท่าที่สามารถทำได้
3. อย่าพยายามบังคับตนเอง หรือตั้งเป้ากับตนเองให้สูงเกินไป เพราะอาจไปเพิ่มความรู้สึกล้มเหลวในภายหลัง
4. พยายามทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับบุคคลอื่นดีกว่าอยู่เพียงลำพัง
5. เลือกทำกิจกรรมที่สร้างความรู้สึกที่ดีขึ้น หรือเพลิดเพลินและไม่หนักเกินไป
เช่น การชมภาพยนตร์ การออกกำลังกายเบาๆ การร่วมทำกิจกรรมทางสังคม
6. อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากๆ
เช่น การลาออกจากงาน การแต่งงาน หรือการหย่าร้าง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่รู้จักผู้ป่วยดี
7. ไม่ควรตำหนิหรือลงโทษตนเองที่ไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการ เพราะไม่ใช่ความผิดของผู้ป่วย ควรทำเท่าที่ตนเองทำได้
8. อย่ายอมรับว่าความคิดในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นในภาวะซึมเศร้าเป็นส่วนหนึ่งที่แท้จริงของตนเอง
เพราะโดยแท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของโรคหรือความเจ็บป่วย และสามารถหายไปได้เมื่อรักษา
9. ในขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลายเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นก็อาจมีบุคคลรอบตัวๆ
ที่ไม่เข้าใจในความเจ็บป่วยของผู้ป่วย และอาจสนองตอบในทางตรงกันข้ามกลายเป็นการซ้ำเติมโดยไม่ได้ตั้งใจ