อ้วนลงพุงเสี่ยงโรค ทุกวัย!!
สุขภาพ 11 มี.ค 65
รูปร่างผอมเพรียวใช่ว่าจะไม่อ้วน บางคนอาจซ่อนรูป ซ่อนพุงอยู่ก็ได้ โดยเฉพาะอ้วนลงพุงหลังทานอาหารเสร็จ อาจเกิดจากการเผาผลาญที่ทำงานผิดปกติ ไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป จนเกิดภาวะโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
Highlight
“ภาวะอ้วนลงพุง” เป็นภาวะที่ระบบการเผาผลาญพลังงานผิดปกติ ทำให้มีไขมันสะสมในช่องท้อง หรืออวัยวะในช่องท้องจำนวนมาก ส่งผลให้มีหน้าท้องยื่นออกมา ถึงแม้ว่าน้ำหนักตัวจะอยู่ในเกณฑ์ปกติก็สามารถอ้วนลงพุงได้ เสี่ยงเกิดภาวะโรคต่างๆ
- โรคเบาหวาน
- ไขมันในเลือดสูง
- ความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
"อ้วนลงพุง" เกิดจากการกินอาหารเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดการสะสมไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ทั้งนี้ สาเหตุอาจยังไม่ชัดเจน เพราะมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็น
- กรรมพันธุ์
- ไม่ออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายน้อย
- ความเครียด
- พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง
- ภาวะต้านอินซูลิน เกิดจากการกินแป้งมากทำให้น้ำตาลสูง
- ภาวะโรคต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ และความผิดปกติของฮอร์โมน
- เบาหวาน
- ยาที่ทำให้น้ำหนักขึ้น เช่น ยาจิตเวช ยากันชัก อินซูลิน สเตียรอยด์
- โรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่ กลุ่มอาการคุชชิ่ง ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
คุณอ้วนลงพุงแล้วหรือยัง!?
หากต้องการรู้ว่าตัวเองเข้าสู่ภาวะอ้วนแล้วหรือยัง เริ่มจากการวัดพุง โดยยืนตรงใช้สายวัดพุงขณะหายใจออก และควรวัดในตอนเช้าก่อนกินอาหาร โดยวัดที่จุดกึ่งกลางระหว่างขอบล่างของซี่โครงสุดท้ายถึงจุดสูงสุดของกระดูกสะโพก ซึ่งเส้นรอบเอวมีความสัมพันธ์กับดัชนีมวลกาย ใช้ทำนายการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วนได้ดี
- กลุ่มประชากรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีนใช้ค่ามากกว่า 90 ซม. หรือ 36 นิ้วในชาย และมากกว่า 80 ซม.หรือ 32 นิ้วในหญิง
- กลุ่มประชากรในทวีปอเมริกาใช้ค่าเส้นรอบเอวมากกว่า 102 ซม. ในชาย และมากกว่า 88 ซม. ในหญิง
- กลุ่มประชากรในทวีปยุโรปใช้ค่ามากกว่า 94 ซม. ในชาย และมากกว่า 80 ซม. ในหญิง
- กลุ่มคนไทยที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน หรืออ้วนในผู้ใหญ่ ปี 2564 อยู่ที่ 47.2% เพิ่มขึ้นจาก 34.7% ในปี 2559
- เขตกรุงเทพมหานคร มีความชุกภาวะอ้วนลงพุงมากที่สุด (56.1%) รองลงมาคือภาคกลาง (47.3%), ภาคใต้ (42.7%), ภาคเหนือ (38.7%), และภาคอีสาน (28.1%)
- พบปัญหาโรคอ้วนในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่ 9.07% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 5.7%
เพื่อลดปัญหาโรคอ้วนลงพุง ที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ โรคเบาหวาน , ไขมันในเลือดสูง , ความดันโลหิตสูง , โรคมะเร็ง, โรคหัวใจและหลอดเลือด อาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวาย อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ รวมไปถึงเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ง่วงซึมในตอนตื่น และปัญหาโรคความเสื่อมของข้อต่อต่าง ๆ เช่น ข้อเข่า ปวดหลัง ปวดเอว ข้ออักเสบ เป็นต้น คุณต้องเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่
- ลดรสหวาน มัน เค็ม ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน
- ควบคุมอาหารที่มีแคลอรี่สูง ลดแป้ง
- เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และไม่ควรอดมื้อเช้า
- ประกอบอาหารด้วยการต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง ผัดน้ำมันน้อยแทนการทอด
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มสุรา
- หันมาออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที
- พักผ่อนให้เพียงพอ
อย่าคิดว่าการอ้วนลงพุงเป็นเรื่องปกติ บางทีอาจซ้อนโรคร้ายที่คุณคาดไม่ถึงไว้ก็ได้ ควรกลับมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง เลือกอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ งดแอลกอฮอล์ บุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค และลดความเสี่ยงการเสียชีวิต
วิตามิน และแร่ธาตุที่เหมาะทุกช่วงวัย
ลดน้ำหนักไม่เห็นผล เพราะลดน้ำหนักแบบผิดๆ !?
ไขมันร้ายสารพัดโรค แต่ก็มีไขมันดีสารพัดประโยชน์