9 เคล็ดลับ ฝึกตัวเองให้ออกกำลังกายติดเป็นนิสัย
ออกกำลังกาย 29 เม.ย 65
เคยตั้งเป้าหมายลดน้ำหนัก วางแผนการออกกำลังกายอย่างจริงจัง พอถึงเวลามักมีข้ออ้างสารพัดจนล้มเหลว!! สำหรับใครที่อยากกลับมาออกกำลังกายให้สำเร็จ ลดน้ำหนัก เพิ่มกล้ามเนื้อ หรือเสริมสร้างร่างกายเห็นผลเร็ว เรามีเคล็ดลับมาแนะนำ
9 เคล็ดลับช่วยให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องง่าย พัฒนาการออกกำลังกายให้ติดเป็นนิสัย
- สร้างวินัยให้ตัวเอง
เมื่อคุณมีความตั้งใจออกกำลังกายให้รีบลงมือทำทันที พยายามควบคุม บังคับ รับผิดชอบตัวเองให้อยู่ในทิศทางของเป้าหมายการออกกำลังกาย หากเกิดความคิดขี้เกียจ มีข้ออ้างเกิดขึ้นในหัวสารพัด ให้มองเป้าหมายไว้ แล้วถ้าวันแรกคุณได้ลงมือทำ วันที่ 2 ก็จะง่ายขึ้น
- วางแผนเรื่องเวลาการออกกำลังกาย
คุณต้องกำหนดเวลาในการออกกำลังกาย เลือกช่วงเวลาที่สะดวก และว่างเว้นจากกิจกรรมอื่น ๆ แล้วตั้งแจ้งเตือนในนาฬิกาปลุก การที่กำหนดเวลาที่แน่ชัด ช่วยกระตุ้นให้ตื่นตัว ทำให้แผนการออกกำลังกายสะดวกขึ้น
- ประเมินตัวเองก่อนตั้งเป้าหมาย
คนส่วนใหญ่ชอบตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไป โดยไม่ประเมินตนเองก่อน จึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง ดังนั้น คุณต้องพิจารณาความสามารถ และร่างกายของตัวเองก่อนว่า ควรเริ่มต้นในระดับไหน ทางที่ดีค่อยเป็นค่อยไป พอประสบความสำเร็จจากเป้าหมายเล็ก ๆ แล้วคุณจะมีกำลังใจก้าวสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
- ตั้งรางวัลให้ตัวเอง
ทุกความสำเร็จควรมีของรางวัลให้กำลังใจตัวเอง เพื่อให้เป้าหมายการออกกำลังกายลดน้ำหนักไม่น่าเบื่อ มีความสนุกมากขึ้น และความท้าทาย แถมเป็นแรงขับเคลื่อนคุณให้สำเร็จเร็วขึ้นอีกด้วย
- ไต่ระดับความสามารถ
สำหรับผู้ที่เริ่มต้น ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนเลย อย่าเพิ่งหักดิบตัวเอง หักโหมออกกำลังอย่างหนักหน่วงในช่วงแรก เพราะมีโอกาสสูงที่จะทำให้รู้สึกท้อจนล้มเลิกความตั้งใจไปเสียก่อน จึงควรค่อย ๆ เพิ่มความหนัก และความนานเข้าไปทีละน้อย ร่างกายจะทนได้ดีกว่า เมื่อผ่านช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ไปแล้ว คุณจะปรับตัวได้ แล้วค่อย ๆ ออกให้หนักขึ้น
- คงความสม่ำเสมอของการออกกำลังกาย
หัวใจสำคัญของการออกกำลังกายให้สำเร็จตามเป้าหมาย คือความสม่ำเสมอ หากคุณออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้ร่างกายเคยชิน และกลายเป็นนิสัยในที่สุด ฉะนั้น ถ้าอยากให้การออกกำลังกายของเรากลายเป็นนิสัยต้องทำทุกวัน เริ่มจากการทำมันซ้ำ ๆ จนกว่าจะกลายเป็นความเคยชิน แล้วติดเป็นนิสัย ไม่ใช่ทำไปเพราะหน้าที่ อยากทำก็ทำ ขี้เกียจก็ไม่ทำ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับวินัยของตัวเอง และรับผิดชอบด้วย
- เลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม
หากคุณมีเป้าการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก ต้องประเมินตัวเองว่า ควรลดน้ำหนักในส่วนไหน ตัวอย่างเช่น ลดต้นขา ก็ควรเลือกท่าออกกำลังกายเฉพาะจุดที่ช่วยลดต้นขา เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการออกกำลังกายเร็วขึ้น โดยที่คุณไม่เสียเวลาไปกับการออกกำลังกายแบบผิด ๆ แต่อย่าหักโหมจนร่างกายทรุดล่ะ
- อย่าให้ข้ออ้างมาทำลายเป้าหมาย
เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วให้ลงมือทำทันที ไม่ลีลา ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เมื่อไฟในตัวกำลังร้อน รีบทำในช่วงเวลานั้นเลย เพราะถ้าลีลา เว้นระยะเวลาการลงมือทำไปนาน ๆ ความตั้งใจที่เคยมีก็จะน้อยลง กว่าจะจูนตัวเองให้กลับมาจริงจังได้ใหม่ก็เสียเวลากระตุ้นตัวเองอีก
- จดบันทึกการลงมือทำทุกวัน
จดบันทึกการออกกำลังกายในทุกวัน เพื่อดูพัฒนาการ ความคืบหน้า และความเปลี่ยนแปลง ทั้งร่างกาย และความแข็งแกร่ง เมื่อคิดว่าสามารถทำได้ดีกว่าเดิม ค่อยเพิ่มเป้าหมายให้สูงขึ้น นอกจากนี้การจดบันทึกการออกกำลังกาย จะเป็นแรงผลักดันให้เราเดินหน้าต่ออย่างตั้งใจ ยิ่งคุณเห็นถึงพัฒนาการของตัวเองดีขึ้น ยิ่งมีกำลังใจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แล้วคุณจะหลงรักการออกกำลังกาย และร่างกายที่ดูดีขึ้น
ทำบางคนอาจมีคำถามว่า “ต้องออกกำลังกายต่อเนื่องนานแค่ไหนที่จะติดเป็นนิสัย!?” ดังนั้น ถ้าคุณตั้งเป้าหมายเริ่มต้นที่ 1 เดือน โดยภายใน 1 เดือนต้องออกกำลังกายสัปดาห์ละ 2-3 วัน และวันละ 20 นาทีอย่างต่ำ หลังจากทำครบตามกำหนดแล้ว ค่อยมานั่งประเมินตัวเองถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้น แล้วเพิ่มเป้าหมายให้สูงขึ้นตามความสามารถตนเอง เช่น เพิ่มความหนักเบาในการออกกำลังกาย , เพิ่มรูปแบบการออกกำลังกาย , เพิ่มวัน/เวลาการออกกำลังกายให้นานขึ้น เป็นต้น
แต่เชื่อว่า คุณเห็นพัฒนาการของตัวเองเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น จะมีกำลังใจในการเพิ่มเป้าหลายสูงขึ้นแน่นอน และชื่นชอบในการออกำลังกาย สุดท้ายจะทำให้ติดเป็นนิสัย แต่สำหรับใครที่ยังไม่เห็นพัฒนาการของตัวเอง ต้องมาทบทวนถึงเป้าหมายที่เคยลงมือทำไปนั้นว่า มีจุดไหนที่ต้องปรับบ้าง หรือหาผู้เชี่ยวชาญ เทรนเนอร์มาเป็นผู้ช่วย จะยิ่งทำให้เป้าหมายการออกกำลังกายประสบความสำเร็จเร็วมากขึ้นไปอีก
รับมืออาการเปลี่ยนแปลง ป้องกันโรค
สารอาหารที่ควรได้รับในวัย 20-60 ปี
กำจัดขยะสมอง ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ และโรคทางระบบประสาท