กินอาหารไม่คิด! เสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูง อันตรายถึงชีวิต
สุขภาพ 13 พ.ค 65

ความดันโลหิตสูง เป็นจุดเริ่มต้นของหลาย ๆ โรค ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร และการใช้ชีวิต โดยเฉพาะคนที่ชอบกินรสเค็ม และอาหารที่มีไขมันสูง รวมไปถึงเกิดความเครียดสะสม และไม่ปรับพฤติกรรมในการกินอาหาร อาจถึงขั้นอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่น หลอดเลือด หัวใจ และสมองมีปัญหาได้
ความดันโลหิตสูง หรือที่เรียกกันว่า ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่พบโรคนี้ในเด็ก เพราะผู้ที่มีอายุน้อยก็อาจมีโอกาสเกิดได้เช่นกัน
โรคความดันโลหิตสูง เกิดจากอะไร!?
สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง อาจเกิดมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ก็คือ “เอ็นไซม์” ซึ่งเป็นสารเคมีทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมีต่าง ๆ มีชื่อเรียกว่า เรนิน (Renin) และฮอร์โมนแองจิโอเท็นซิน (Angiotensin) จากไต โดยสารทั้งสองตัวนี้จะทำงานร่วมกันกับต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมองในการควบคุมน้ำ เกลือแร่โซเดียม และการบีบตัวของหลอดเลือดในร่างกายทั้งหมด นั่นก็เป็นการควบคุมความดันโลหิตที่มีชื่อเรียกว่า กระบวนการ Renin-Angiotensin system
- ความผิดปกติจากการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง
- พันธุกรรม : อาจมาจากภายในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง
- เชื้อชาติ : ส่วนมากพบผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงในเชื้อชาติอเมริกันผิวดำ
- การกินอาหารเค็ม : อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้เกิดโรคความดันสูงได้ เนื่องจากเกลือ โซเดียม หรือเกลือทะเลเป็นตัวอุ้มน้ำในเลือด โดยเข้าไปเพิ่มปริมาตรของเลือดที่ไหลเวียน จึงส่งผลให้เกิดภาวะความดันสูงขึ้นได้
โรคความดันโลหิตสูง มีอาการอย่างไร ?
อาการโรคความดันโลหิตสูง ไม่ค่อยมีอาการใด ๆ บ่งบอกชัดเจน จึงเสี่ยงทำให้เป็นโรคเรื้อรัง และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เรียกได้ว่า เป็นโรคร้ายที่ไม่แสดงผลให้รู้ตัว แต่อาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบ ๆ เหมือนไมเกรน อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ หากมีอาการนานมาก ๆ อาจโคมาและเสียชีวิต
ที่สำคัญมีอาการที่เกิดข้างเคียงจากโรคกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย …
- โรคหัวใจ
- โรคหลอดเลือดในสมอง
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วน
- โรคที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (มีอาการปวดศีรษะและดวงตามองเห็นภาพได้ไม่ชัด)
เพราะฉะนั้น หากต้องการรู้ว่าตัวเองเป็นโรคความดันโลหิตหรือไม่ แนะนำตรวจสุขภาพกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเฝ้าระวัง และรักษาอย่างถูกวิธี
ลดโรคความดันโลหิตสูง กินผัก และผลไม้
เริ่มจากการเลือกกินอาหารที่เหมาะสม กินผัก และผลไม้ที่มีโพสแทสเซียมสูง เพราะโพแทสเซียมจะช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติได้ ผัก และผลไม้ที่มีโพแทสเซียม ได้แก่ ลูกพรุน ลูกเกด เมล็ดทานตะวัน อินทผาลัม ผักโขม เห็ด กล้วย ส้ม แต่ใครที่เป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงนะคะ
ลดโรคความดันโลหิตสูง กินธัญพืช
ธัญพืชที่แนะนำ คือ ถั่วอบแห้งแบบไม่อบเกลือ (โซเดียมจะได้ไม่หนัก) นอกจากช่วยลดความดันโลหิตสูงแล้ว ยังมีไขมันดีที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในร่างกายอีกด้วย แต่ต้องทานในระดับพอดี ๆ เพราะธัญพืชให้พลังงานที่แตกต่างกันในแต่ละชนิด ถ้ากะปริมาณไม่ถูกให้กินประมาณ 1 กำต่อวัน
- แมคคาเดเมีย 40 กรัม 287 Kcal
- พีแคน 40 กรัม 276 Kcal
- อัลมอนด์ 40 กรัม 230 Kcal
- ถั่วลิสง 40 กรัม 227 Kcal
- พิสตาซิโอ 223 Kcal
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 40 กรัม 221 Kcal
ลดโรคความดันโลหิตสูง ด้วยอาหารคลีน
อาหารคลีน ต้องเป็นอาหารที่ปรุงด้วยวิธีที่ใช้ไขมันต่ำ แป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ผ่านการปรุงรสน้อย หากทานอาหารคลีนเป็นประจำ จะช่วยลดปริมาณโซเดียมในร่างกาย และช่วยลดความดันโลหิตได้ในระยะยาว
อาหารที่ควรควรหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้ระดับความดันโลหิตสูงไปกว่าเดิม
- แอลกอฮอล์
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน กาแฟ ชา
- อาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ทอด แกงกะทิ ผัดพริกแกง
ถึงแม้โรคความดันโลหิตสูง จะเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาให้หายยาก แต่สามารถควบคุมได้ หากมีการควบคุมอาการมาตั้งแต่ต้น โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงกินยาอย่างถูกต้อง และครบถ้วน แต่ในทางกลับกัน ถ้าดูแลตัวเอง หรือควบคุมอาหารไม่ดีพอ เสี่ยงให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดเลือดหัวใจ , โรคหลอดเลือดสมอง , โรคไตเรื้อรัง ที่อาจทำให้พิการและเสียชีวิต
ระดับความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง
ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคความดันสูง คือ 120-139/80-89 มม.ปรอท แนวทางการรักษาเริ่มต้น ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่แพทย์ยังคงไม่ให้ยาลดความดันโลหิต
- โรคความดันสูงระยะที่ 1 ที่ความดันโลหิตจะอยู่ในช่วง 140-159/90-99 มม.ปรอท
- โรคความดันสูงระยะที่ 2 ที่ความดันโลหิตอยู่ในระดับตั้งแต่ 160/100 มม.ปรอทขึ้นไป
- โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง คือ ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 180/110 มม.ปรอทขึ้นไป เพราะอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทำให้เกิดโรคหัวใจ สมอง ไต ล้มเหลว
- โรคความดันสูงที่จะต้องพบแพทย์ฉุกเฉิน ที่ความดันโลหิตจะอยู่ในระดับตั้งแต่ 220/140 มม.ปรอทขึ้นไป เพราะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ซึ่งมาจากการล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น หัวใจ สมอง และไต
นอกจากปรับพฤติกรรมการกินอาหารแล้ว ต้องปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตด้วย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจเบิกบาน ไม่เครียด เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงจากภายในสู้ภายนอก ทั้งยังลดโรคความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
ลดน้ำหนัก งดข้าวเย็น สุขภาพเสียหนัก
รับมืออาการเปลี่ยนแปลง ป้องกันโรค
หักโหมออกกำลังกาย ส่งผลร้ายกว่าที่คิด