8 ช่วงเวลาที่ควรดื่มน้ำ
สุขภาพ 5 ส.ค 65

ดื่มน้ำ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ดีต่อระบบการทำงานภายในร่างกาย ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้นในหลายด้าน รวมไปถึง ระบบเผาผลาญ การทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ และภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้นด้วย
เมื่อไรก็ตามที่เรากระหายน้ำ แปลว่าร่างกายกำลังเข้าสู่ภาวะขาดน้ำ
- ทำให้เกิดอาการเวียนหัว
- ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยอยู่
- การทำงานของระบบเผาผลาญแย่ลง
- การนอนหลับผิดปกติ
- การทำงานของฮอร์โมนแปรปรวน
**การดื่มน้ำ ไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำแร่ หรือน้ำที่มีการเติมสารวิตามินต่าง ๆ แค่เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการดื่มน้ำก็พอ กับ 8 เวลาที่ควร "ดื่มน้ำ" ช่วยลดไขมัน - เพิ่มภูมิคุ้มกัน
1. หลังตื่นนอน
ช่วงที่เรานอนหลับเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง (ตามเวลานอนปกติ) ร่างกายจะขาดน้ำเป็นเวลานาน จึงควรรีบดื่มน้ำทันทีหลังจากตื่นนอน อย่างน้อย 1 แก้ว (200 cc.) เพื่อให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ลดอาการเวียนศีรษะ นอกจากนี้ คุณไม่จำเป็นต้องแปรงฟันก่อนดื่มน้ำ สามารถดื่มน้ำได้ทันทีเลย เพราะแบคทีเรียในช่องปากหลังตื่นนอนจะไหลตามน้ำลงไปด้วย ช่วยทำให้การทำงานของระบบขับถ่ายดีขึ้น
2. ขณะ / หลังออกกำลังกาย
การออกกำลังกายทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำผ่านทางเหงื่อจำนวนมากกว่าปกติ ซึ่งไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำในขณะที่ออกกำลังกาย และหลังออกกำลังกาย แนะนำให้จิบน้ำเล็กน้อยระหว่างออกกำลังกายเท่านั้น อย่าดื่มน้ำเป็นแก้วหรือเยอะเกินไป เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และไม่ให้เกิดอาการจุกเสียดขึ้น
เคล็ดลับการดื่มน้ำระหว่าง และหลังออกกำลังกาย ไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำเกลือแร่ เพราะน้ำเกลือแร่มีน้ำตาลสูง 1 ขวดประมาณ 6-10 ช้อนชา โดยค่าน้ำตาลที่เราควรได้รับต่อวันเพียง 6 ช้อนชาเท่านั้น น้ำเกลือแร่เหมาะกับคนที่ออกกำลังกายหนักมาก ๆ ถ้าออกกำลังกายตามปกติ ให้ดื่มน้ำเปล่าธรรมดาก็เพียงพอแล้ว โดยดื่มน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องก็ได้ แต่ไม่แนะนำน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน เพราะอาจทำให้ร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้นได้
3. ดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหาร 30 นาที
เพื่อกระตุ้นร่างกาย เตรียมพร้อมในเรื่องระบบย่อยอาหาร ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญ หากเราดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหาร ช่วยให้อิ่มเร็ว ลดความอยากอาหาร ดีต่อคนที่กำลังลดน้ำหนัก แต่ไม่ควรดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหารมากเกินไป อาจทำให้จุกเสียดท้องได้
4. ดื่มน้ำก่อนอาบน้ำ
สำหรับคนที่ชอบอาบน้ำอุ่น ทำให้เลือดไหลเวียนไปตามผิวหนังมากยิ่งขึ้น เลือดส่งไปเลี้ยงสมองน้อยลง อาจเสี่ยงต่ออาการเวียนศีรษะ หรือหน้ามืดจากภาวะความดันโลหิตลดลงได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก แนะนำให้ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนอาบน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงภาวะความดันตกระหว่างอาบน้ำอุ่น ป้องกันอาการหน้ามืดระหว่างอาบน้ำด้วย
5. ดื่มน้ำก่อนเข้านอน
สามารถช่วยลดความเสี่ยงภาวะขาดน้ำระหว่างที่เรานอนไปหลายชั่วโมง แต่อย่าดื่มน้ำมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ต้องลุกไปปัสสาวะบ่อย ๆ ส่งผลให้การนอนหลับพักผ่อนไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นควรดื่มน้ำไม่เกิน 1 แก้วก่อนเข้านอน หรือหากดื่มน้ำเพียง 1 แก้วแล้วยังทำให้เราต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก แนะนำให้ดื่มน้ำเพียงครึ่งแก้วเท่านั้น
6. ดื่มน้ำบ่อย ๆ เวลาไม่สบาย
ช่วงเวลาที่มีไข้ ไม่สบาย ร่างกายของเราอุณหภูมิสูงขึ้น การดื่มน้ำช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย และขับความร้อนออกทางปัสสาวะ ทำให้หายไข้ไว และยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มทำงานได้ดีขึ้น สำหรับใครที่เป็นไข้จิบน้ำบ่อย ๆ ช่วยให้ไข้หลายเร็วขึ้นได้นะ
7. ดื่มน้ำแก้อาการอ่อนเพลีย
หากมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย เบื่อ หงุดหงิดง่าย อาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดน้ำได้ ลองดื่มน้ำเย็น ๆ สักแก้ว สามารถดับร้อน และบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ ดังนั้น ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันด้วยนะ
8. ดื่มน้ำ ลดการติดเชื้อโรค
สำหรับใครที่ต้องเฝ้าผู้ป่วย การดื่มน้ำช่วยปกป้องร่างกายของเรา ไม่ให้ติดเชื้อ หรือติดไข้จากผู้ป่วยที่อยู่รอบตัวเราได้ เพราะน้ำช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และการดื่มน้ำบ่อย ๆ ในช่วงที่อยู่กับผู้ป่วย ช่วยลดความตึงเครียดและอาการอ่อนเพลียจากการดูแลผู้ป่วยได้ด้วย
ร่างกายของเราประกอบไปด้วยน้ำมากกว่า 80% และเป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย เพื่อขับเคลื่อนระบบภายในร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ พร้อมทั้ง ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว เป็นเกาะป้องกันมลภาวะจากภายนอกได้ดี เห็นไหมละว่า การดื่มน้ำเปล่าให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แต่ก็ควรดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ดื่มน้ำมากจนเกินไปด้วย
ลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย ควบคุมความดัน และน้ำตาลในเลือด
ลดน้ำหนัก งดข้าวเย็น สุขภาพเสียหนัก
เสริมภูมิคุ้มกัน บำรุงสายตา จากวิตามินเอ